ข้อมูลทั่วไป
 
ข้อมูลพื้นฐาน ประวัติความเป็นมา วิสัยทัศน์/พันธกิจ ตราสัญลักษณ์

  • สภาพทั่วไป
    ลักษณะที่ตั้ง เทศบาลตำบลคลองแงะตั้งอยู่ที่ ๔๘ หมู่ที่ ๕ ถ.กอบกุลอุทิศ ๓ ตำบลพังลา อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา ๙๐๑๗๐ ครอบคลุม ๒ หมู่บ้าน มีหมู่ที่ ๕ บ้านคลองแงะ(บางส่วน) และหมู่ที่ ๖ บ้านคลองผ่าน มีพื้นที่ ๕.๓๐ ตารางกิโลเมตร อยู่ห่างจากอำเภอสะเดาไปทางทิศเหนือตามเส้นทางหลวงแผ่นดินหมายเลข ๔ ประมาณ ๑๘ กิโลเมตร และห่างจากกรุงเทพมหานคร ประมาณ ๙๕๐ กิโลเมตร

    อาณาเขต
    เทศบาลตำบลคลองแงะ มีอาณาเขตติดต่อกับพื้นที่ใกล้เคียง ดังนี้
    ทิศเหนือ ติดต่อกับ พื้นที่ขององค์การบริหารส่วนตำบลพังลา อ.สะเดา จ.สงขลา
    ทิศใต้ ติดต่อกับ พื้นที่ขององค์การบริหารส่วนตำบลพังลา อ.สะเดา จ.สงขลา
    ทิศตะวันออก ติดต่อกับ พื้นที่ขององค์การบริหารส่วนตำบลพังลา อ.สะเดา จ. สงขลา
    ทิศตะวันตก ติดต่อกับ พื้นที่สขององค์การบริหารส่วนตำบลท่าโพธิ์ อ.สะเดา จ.สงขลา

    ลักษณะภูมิประเทศ
    เทศบาลตำบลคลองแงะมีพื้นที่ ๕.๓๐ ตารางกิโลเมตร พื้นที่ทั่วไปโดยเฉพาะที่ตั้งของชุมชนเป็นพื้นที่ราบมีความลาดชันน้อย โดยมีน้ำไหลผ่านในเขตเทศบาลระบายไปสู่คลองอู่ตะเภาทางด้านทิศตะวันตกของชุมชน การตั้งถิ่นฐานของชุมชนจะหนาแน่นบริเวณหมู่ที่ ๕ ซึ่งอยู่บริเวณตอนกลางของชุมชนและมีการตั้งถิ่นฐานอยู่ทั่วไปในพื้นที่ด้านตะวันตก

    ประชากร
    จำนวนประชากรในเขตเทศบาลตำบลคลองแงะ (ข้อมูลเมื่อวันที่ ๓๐ พฤษภาคม ๒๕๕๕) มีจำนวนประชากร ๘,๓๓๔ คน แบ่งเป็นเพศชาย ๔,๑๕๗ คน เพศหญิง ๔,๑๘๑ คน มีจำนวนครัวเรือน ๒,๙๖๕ ครัวเรือน ความหนาแน่นของประชากร ๑,๕๗๓ คน/ตารางกิโลเมตร

  • เดิมเทศบาลแห่งนี้ ถูกยกฐานะจัดตั้งขึ้นเป็นสุขาภิบาลพังลาตามประกาศกระทรวงมหาดไทยเมื่อวันที่ ๑๔ พฤษภาคม ๒๔๙๙ ตามราชกิจจานุเบกษา ฉบับพิเศษ เล่ม ๗๓ หน้า ๙๑ ตอนที่ ๔๕ ลงวันที่ ๓๐ พฤษภาคม ๒๔๙๙ และในปีพ.ศ.๒๕๓๕ ได้ยกฐานะเป็นสุขาภิบาลที่ประธานกรรมการมาจากการเลือกตั้ง เมื่อวันที่ ๗ กรกฏาคม ๒๕๓๕ ตามราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๐๙ ตอนที่ ๘๖ ต่อมาสุขาภิบาลพังลาเปลี่ยนแปลงฐานะเป็นเทศบาลตำบลพังลา พ.ศ.เมื่อวันที่ ๒๕ พฤษภาคม ๒๕๔๒ ตามพระราชบัญญัติเปลี่ยนแปลงฐานะของสุขาภิบาลเป็นเทศบาล พ.ศ. ๒๕๔๒ ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๑๖ ตอนที่ ๙ ลงวันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๒

    เทศบาลตำบลพังลา ได้เปลี่ยนชื่อเป็นเทศบาลตำบลคลองแงะ เมื่อวันที่ ๑๙ กรกฏาคม ๒๕๕๐ อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๑๒ แห่งพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ.๒๔๙๖ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติเทศบาล (ฉบับที่ ๑๒) พ.ศ.๒๕๔๖

    ยุคที่ ๑ ช่วงก่อนเกิดชุมชนคลองแงะ (พ.ศ. ๒๓๘๑- 2414)

    สมัยรัชกาลที่ ๓ (พ.ศ. ๒๓๘๑) ก่อนจะมีชุมชนคลองแงะขึ้นอย่างในปัจจุบัน พื้นที่ในละแวกนี้จะมีการตั้งชุมชนค่อนมาทางทิศใต้ของชุมชนคลองแงะในปัจจุบัน เรียกพื้นที่โดยรวมว่าบ้านพังลาซึ่งมีการตั้งชุมชนอยู่ก่อนมาแล้ว เหตุที่เรียกว่าบ้านพังลานั้น ก็สืบเนื่อง เมื่อช่วงสมัยรัชกาลที่ 3 กบฏแขกมลายูเริ่มเหิมเกริม พระองค์จึงโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้พระยาศรีพิพัฒน์รัตนราชโกษาธิบดียกทัพลงมาปราบกบฏไทรบุรี โดยมีการเกณฑ์ทัพจากนครศรีธรรมราช พัทลุง เพื่อมาสมทบกับทัพหลวงที่กำลังตั้งทัพรออยู่ที่จังหวัดสงขลา (อดีตคือเมืองไทรบุรี) จากเล่าขานของชาวบ้านที่เล่าต่อๆกันมาว่า ในการทำศึกครั้งนี้ มีช้างคู่หนึ่งอาศัยอยู่ ณ บริเวณบ้านพังลาในปัจจุบัน เมื่อเกิดศึกสงครามในครั้งนั้น ทัพหลวงต้องเกณฑ์ไพร่พล รวมไปถึงช้าง ม้า วัว ควายจากชาวบ้านเพื่อนำไปทำศึกสงคราม เป็นเหตุให้ช้างทั้งคู่ต้องถูกพลัดพรากจากกันไป ในการจากกันช้างทั้งได้ใช้งวงเกี่ยวกันเสมือนเป็นการบอกลากัน ในที่สุดอาการการจากลาของช้างทั้งคู่ จึงเป็นที่มาของชื่อ“บ้านพังลา” ในที่สุด หรืออีกที่มา เล่าสืบต่อกันว่า เหตุที่เรียกบ้านพังลาเพราะชาวบ้านในละแวกนั้นปลูกกล้วยตานีเป็นจำนวนมาก กล้วยตานีอีกชื่อหนึ่ง ชาวบ้านเรียก กล้วยพังลา จึงกลายมาเป็นชื่อบ้านพังลาในที่สุด ซื่อตำบลพังลา (ข้อมูลจาก Hathaifocus .com) สมัยรัชกาลที่ ๔ (พ.ศ 2405) จากข้อมูลในพงศาวดารเมืองสงขลา ภาคที่ 2 ซึ่งพระยาสวัสดิ์คีรีศรีสมันตราษฎร์นายก (เย็น สุวรรณปัทม) เป็นผู้เรียบเรียง ได้ระบุไว้ในหัวข้อราชการพิเศษว่า ในปีพ.ศ. 2405 รัชกาลที่ 4 โปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาวิเชียรคีรี (บุญสังข์) จัดสร้างทางหลวงจากเมืองสงขลาไปต่อพรมแดนเมืองไทรบุรี (ไทรบุรี คือ รัฐเคดาห์หรือรัฐเกอดะฮ์ ประเทศมาเลเซีย) และให้เจ้าพระยาไทรทำต่อไปให้ถึงในแขวงเมืองไทรบุรี พระราชทานเงินอากรรังนกเมืองสตูล 15,000 เหรียญ เพื่อให้นำมาสร้างถนนสายนี้เป็นทางหลวงข้ามแหลมมลายูสาย 1 ใช้เป็นประโยชน์มาจนบัดนี้ ดังนั้น จึงพอสรุปได้ว่าก่อนเกิดชุมชนคลองแงะได้มีการตัดผ่านของถนนไทรบุรี ซึ่งมีระยะทางจากตัวเมืองสงขลาไปจนถึงรัฐเคดาห์ ประเทศมาเลเซีย ในปัจจุบัน สมัยรัชกาลที่ ๕ (พ.ศ.2414) พระบาทสมเด็จพระจุลเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ เสด็จเมืองสงขลาครั้งแรก เนื่องจากพระองค์เสด็จกลับจากการเสด็จประพาสอินเดีย โดยพระองค์เสด็จขึ้นบกที่เมืองไทรบุรี (ปัจจุบันคือ รัฐเคดาฮ์ มาเลเซีย) และพระองค์เสด็จพระราชดำเนินโดยใช้เส้นทางตามถนนไทรบุรี (ถนนกาญจนวนิช ถนนช่วงที่ผ่านชุมชนคลองแงะในปัจจุบัน) สู่เมืองสงขลา กล่าวได้ว่าพระองค์คือพระมหากษัตริย์ไทยพระองค์แรกที่เสด็จพระราชดำเนิน ผ่านถนนไทรบุรี (และหมายรวมถึงเสด็จผ่านชุมชนคลองแงะในปัจจุบันด้วย) เมื่อถึงเมืองสงขลา พระองค์ได้มาลงเรือพระที่นั่งเสด็จกลับสู่พระนคร (ข้อมูล พงศาวดารเมืองสงขลา)

    ยุคที่ ๒ ช่วงการก่อร่างสร้างชุมชนคลองแงะ (พ.ศ ๒๔๕๒-๒๔๗๗) พ.ศ ๒๔๕๒

    ประเทศไทยยกสิทธิการปกครองและบังคับบัญชาเมืองไทรบุรี กลันตัน ตรังกานู และปะลิส รวมทั้งเกาะใกล้เคียงให้แก่อังกฤษ เพื่อแลกกับการที่อังกฤษจะให้เงินกู้ให้แก่ไทย จำนวน 4.63 ล้านปอนด์ เพื่อสร้างทางรถไฟสายใต้ มีผลทำให้ ในปีเดียวกันประเทศไทยได้มีการสร้างทางรถไฟสายใต้ขึ้น และมีผลทำให้จังหวัดไทรบุรีบางส่วนหายไป และตามคำบอกเล่าของคนเฒ่าคนแก่ในชุมชนคลองแงะ พอจะประมวลได้ว่า บ้านคลองแงะก่อร่างสร้างชุมชนอย่างชัดเจน น่าจะมาพร้อมกับการสร้างทางรถไฟสายใต้ คือ พ.ศ. ๒๔๕๒ ซึ่งได้มีการกล่าวถึงบุคคลสำคัญชื่อนายฉีเว่ยโจว ชาวจีนแคะ จากรัฐปีนัง ประเทศมาเลเซีย เข้ามาสัมปทานสร้างทางรถไฟสายใต้ ช่วงเส้นทางชุมทางหาดใหญ่-ปาดังเบซาร์ การเข้ามาครั้งนั้น นายฉีเว่ยโจวได้นำแรงงาน ญาติพี่น้องจากรัฐปีนังเข้ามาเพื่อเตรียมการสร้างทางรถไฟจำนวนนึงด้วย เริ่มมีการบุกเบิกพื้นที่ถากถางป่ารกเพื่อทำไร่กาแฟ ปลูกผัก และค้าขาย จนเกิดการขยายตัวขึ้นมาของชุมชนตามลำดับ ชุมชนคลองแงะ มีที่มาของชื่อ อยู่ ๒ ที่มา กล่าวคือ ที่มาแรก เชื่อว่ามาจากคำว่า คังแหวะ ซึ่งน่าจะเป็นชื่อเรียกมาจากภาษาจีนกลาง ถูกเพี้ยนมาเป็นคลองแงะในที่สุด ที่มาที่ ๒ เชื่อว่าคำว่า คลองแงะ เพี้ยนมาจาก คำว่า คลองแวะ เนื่องจากในพื้นที่มีคลองอู่ตะเภาไหลผ่านซึ่งเป็นเส้นทางคมนาคมสัญจร ค้าขายสินค้า มีเรือโดยสารสัญจรเรือเอี้ยมจุ้น ผ่านไปมาอยู่เป็นประจำ จาก พ.ศ. 2452 เริ่มการก่อสร้างทางรถไฟสายใต้ และแล้วเสร็จครบหมดในพ.ศ. 2464 โดยมีสถานีปลายทางอยู่ที่สถานีรถไฟสุหงโกลก จังหวัดนราธิวาส ในระหว่างนั้นก็ได้มีการสร้างเส้นทางรถไฟชุมชนทางหาดใหญ่- บัตเตอเวิร์ท เพื่อเชื่อมเข้ากับทางรถไฟสายชายฝั่งทะเลตะวันตก รัฐเปอร์ลิส ของประเทศมาเลเซีย ซึ่งเป็นเส้นทางที่ผ่านชุมชนคลองแงะ ที่สถานีรถไฟคลองแงะด้วย การก่อสร้างดำเนินการแล้วเสร็จและเปิดการเดินรถระหว่างกันครั้งแรกเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2461 (ข้อมูลจากการถไฟแห่งประเทศไทย) เมื่อเริ่มมีการใช้เส้นทางรถไฟ ทำให้เกิดเส้นทางคมนาคมสัญจรเพิ่มขึ้น จากเดิมที่ใช้การสัญจรขนส่งทางเรือในลำคลองอู่ตะเภา และเส้นทางถนนสงขลา-ไทรบุรี (ถนนกาญจนวนิชในปัจจุบัน) ทำให้มีความสะดวกสบายในเรื่องการคมนาคมและการขนส่งสินค้ามากขึ้น พ.ศ ๒๔๕๔ มีการสร้างวัดเซียมอิ่มประดิษฐ์ ซึ่งตั้งอยู่ตรงบริเวณถนนวังปริง ต่อมาครอบครัว นางกอบกุล รัตนปราการ ได้บริจาคที่ดินจำนวน ๑๕ ไร่ พ.ศ ๒๔๕๗ ได้มีการแบ่งเขตการปกครองตามพระราชบัญญัติลักษณะการปกครองท้องที่ จึงยกฐานะบ้านพังลาโดยผนวกเอาชุมชนใกล้เคียงรวมมาถึงชุมชนคลองแงะรวมกันเป็นตำบลพังลา ซึ่งกำนันคนแรกของตำบล คือ ขุนพังลา และหมื่นนันท์ นภารัตน์ เป็นผู้ใหญ่บ้านคนแรกของชุมชน พ.ศ. 245๘-๒4๖๐ ชาวจีนที่สัมปทานสร้างทางรถไฟอัญเชิญผงธูปและรูปเคารพขององค์ตั่วแป๊ะกงซึ่งแกะสลักด้วยไม้จากรัฐปีนัง ประเทศมาเลเซีย โดยครั้งแรกอัญเชิญไปประดิษฐาน ณ วัดเซี่ยนอิ่มประดิษฐ์ (วัดกอบกุลรัตนารามในปัจจุบัน) โดยสร้างเป็นศาลเล็กๆ ข้างบ่อน้ำ ไว้ให้ชาวคลองแงะได้สักการบูชา ซึ่งเชื่อกันว่าองค์ตั่วแป๊ะกงเป็นเทพเจ้าที่จะคอยปกปักรักษาให้ชุมชนอยู่เย็น เป็นสุข ค้าขายเจริญรุ่งเรือง เพาะปลูกได้ผลผลิตดี ในช่วงนั้นด้วยแรงเลื่อมใสศรัทธาเพิ่มมากขึ้น จึงได้มีผู้บริจาคที่ดินจำนวน ๑๐๐ ไร่ เพื่อสร้างศาลเจ้าแห่งใหม่ขึ้นซึ่ง คือ ศาลาเจ้าแป๊ะกง ซึ่งตั้งอยู่ที่ เลขที่ ๖ หมู่ ๕ ถนนกาญจนวนิชย์ ตำบลพังลา ซึ่งอยู่ในเขตชุมชนแป๊ะกง-ทุ่งยาว อย่างในปัจจุบัน ผลจากแรงศรัทธาจึงให้เกิดงานประเพณีประจำปีของชุมชนคลองแงะขึ้น ๓ งาน ได้แก่ ๑) งานประเพณีฉลองวันเกิดแป๊ะกง จะจัดขึ้น วันที่ ๒๙ เดือน ๓ ตามจันทรคติของจีน ๒) งานซิโกวหรืองานทำบุญทิ้งกระจาด จัดขึ้นวันที่ ๑๙ เดือน ๗ ตามปฏิทินจันทรคติของจีน และ ๓) งานไหว้เซียซึ้ง หรืองานขอบคุณเทพเจ้าประจำปี กำหนดจัดขึ้นช่วงสิ้นปี วันที่ ๑๙ เดือน ๑๒ ตามปฏิทินจันทรคติของจีน พ.ศ ๒๔๖๐ มีการรวมเอาตำบลปริก ตำบลทุ่งหมอมารวมกับอำเภอเหนือ (ซึ่งชุมชนคลองแงะในอดีตก่อนขึ้นกับตำบลพังลาเป็นชุมชนหนึ่งตั้งอยู่ในอำเภอเหนือด้วย) เพื่อยกฐานะเป็นอำเภอสะเดา มีพระภักดีราชกิจเป็นนายอำเภอคนแรกของอำเภอสะเดา ทำให้บ้านคลองแงะ ขึ้นกับตำบลพังลา อำเภอสะเดาตั้งแต่นั้นมา พ.ศ ๒๔๖๐ เกิดตลาดแห่งแรกของชุมชนคลองแงะ ชื่อ ตลาดใต้ ต้องอยู่ตรงที่ดินว่างเปล่าตรงข้าวหอฌาปนากิจคลองแงะปัจจุบัน แต่มาราว พ.ศ ๒๔๘๐ ได้มีการปิดตัวลง เนื่องจาก ได้มีตลาดใหม่เกิดขึ้น 1 กรกฎาคม 2461 สร้างทางรถไฟสายชุมชนทางหาดใหญ่-ปาดังเบซาร์ แล้วเสร็จ และเปิดเดินรถ พ.ศ ๒๔๖๒ มีสถานีรถไฟคลองแงะเกิดขึ้น เกิดการตั้งถิ่นฐานขึ้นตรงบริเวณหนาแน่นขึ้น พ.ศ ๒๔๖๙ หลังจากมีการสร้างศาลเจ้า ได้มีสร้างวัด เดิมชื่อว่า วัดเซียนอิ่มประดิษฐ์ ถือศูนย์รวมจิตใจและศรัทธาแห่งที่ ๒ ของคนในชุมชน ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น วัดกอบกุลรัตนาราม ซึ่งเป็นวัดราษฏร์ธรรมยุติกนิกาย โดยมีองค์หลวงพ่อดำ พระพุทธที่ชาวชุมชนให้ความนับถือเป็นพระพุทธที่อยู่คู่วัดมากตั้งอดีตจนปัจจุบัน และถือจุดเริ่มต้นของวัฒนธรรมประเพณีของชุมชนคลองแงะสืบมา พ.ศ. 2475 จ.ส.ต. เอียด อุไรรัตน์ หมื่นนันท์ อาภารักษ์ กำนันตำบลพังลา นายสุภักตร์ บุญโสภณ และพระภิกษุปานได้ก่อตั้งโรงเรียนขึ้นพร้อมๆกับการสร้างวัด ต่อมา นายปิ่น โฮ่วรพรรดิพิศาล ศึกษาธิการอำเภอสะเดา ได้จัดสร้างโรงเรียนใหม่ตรงที่ตั้งของโรงเรียนคลองแงะในปัจจุบัน ชื่อโรงเรียนในขณะนั้นคือ “โรงเรียนประชาบาลตำบลพังลา 4 มีนายจวน บุญอนันต์ เป็นครูใหญ่ คนแรก พ.ศ ๒๔๗๗ เกิดตลาดแห่งที่ ๒ ชื่อตลาดบน ตั้งอยู่ตรงบริเวณหัวมุมปากทางเข้าชุมชนหลังอนามัยข้างสะพานลอยฝั่งหลังธนาคารกรุงเทพพาณิชย์ในอดีต

    ยุคที่ ๓ ช่วงสร้างบ้านแปงเมืองหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ สิ้นสุด (พ.ศ ๒๔๘๘-๒๔๙๙)

    หลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ สิ้นสุดลง (เดือนสิงหาคม พ.ศ ๒๔๘๘) จากนั้นไม่นานนายสุชาติ รัตนปราการ เจ้าของกิจการโรงสีหับ โห้ หิ้น (โรงสีแดง) ยุติการทำกิจการค้าข้าว เข้ามาบุกเบิกที่ดินผืน ป่าที่บ้านคลองแงะ อำเภอสะเดา จำนวนราว 600 ไร่ ซึ่งมารดาของท่าน คือ นางกอบกุล รัตนปราการ ได้รับมรดกตกทอดมาจากขุนราชกิจจารี เข้าสู่การเปลี่ยนผ่านของการเติบโตของชุมชนอีกครั้ง ด้วยการบุกเบิกสร้างบ้านแปงเมือง ด้วยการบริจารที่ดินเพื่อทำสร้างโรงเรียน สุขศาลา (รพสต.คลองแงะ ในปัจจุบัน) วัด ตลาด จัดสรรที่ดินให้ประชาชนเช่าสร้างบ้านเรือน ร้านค้า มีการตัดถนนขึ้น ๘ สาย ตรงบริเวณชุมชนคลองแงะ ซึ่งมีชื่อว่า"ถนนกอบกุลอุทิศ ๑-๘" พ.ศ. 2484 นายชาติ บุณยรัตน์พันธ์ นายอำเภอสะเดา และนายวัน อโณทิพย์ ศึกษาธิการอำเภอ ได้ร่วมกันหาเงินสร้างอาคารเรียน แบบ ป.1 ก จำนวน 1 หลัง ใช้เรียนเมื่อ วันที่ 26 มิถุนายน 2484 และได้เปลี่ยนชื่อโรงเรียนเป็น “โรงเรียนบ้านคลองแงะ (ชาติบุณยวิทยาคาร)” ใน พ.ศ. 2519 พ.ศ ๒๔๙๓ คลองแงะชุมชนเล็กๆแห่งนี้ได้กลายเป็นที่ตั้งของถนนทางหลวงถึง ๒ สายด้วยกัน ประมาณช่วงหลัง พ.ศ ๒๔๙๓ ไม่นาน ได้มีการสร้างทางหลวงแผ่นดินสายปัตตานี–นราธิวาส เสร็จแล้ว จอมพล ป. พิบูลสงคราม ให้มีการขยายเส้นทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 42 มาให้ถึงจังหวัดสงขลา โดยให้มีจุดเริ่มต้นที่ถนนกาญจนวณิชย์ (ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 4) ตรงบ้านคลองแงะ ตำบลพังลา อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา เส้นทางนี้มุ่งหน้าไปทางทิศตะวันออก ในช่วงแรกเป็นถนนขนาด 2 ช่องจราจร ผ่านอำเภอนาทวี อำเภอเทพา เข้าเขตจังหวัดปัตตานีที่อำเภอโคกโพธิ์ แล้วมุ่งขึ้นเหนือไปยังอำเภอหนองจิก ซึ่งหลังจากนี้ เส้นทางได้ขยายเป็น 4 ช่องจราจร และเป็นส่วนหนึ่งของทางหลวงเอเชียสาย 18 แล้วมุ่งไปทางตะวันออกเข้าอำเภอเมืองปัตตานี อำเภอยะหริ่ง ต่อจากนั้นก็มุ่งไปทางทิศใต้เข้าเขตอำเภอปะนาเระ แล้วเข้าสู่จังหวัดนราธิวาส จนสิ้นสุดที่จุดผ่านแดนถาวรสุไหงโก-ลก บริเวณชายแดนมาเลเซีย-ไทย เชื่อมต่อกับทางหลวงสหพันธ์มาเลเซียหมายเลข 3 ที่เมืองรันเตาปันจัง รัฐกลันตัน ประเทศมาเลเซีย ผลพวงจากการพัฒนาถนนสายดังกล่าว ทำให้ชุมชนคลองแงะของเรากลายศูนย์การค้าขาย ขนส่งสินค้า การสัญจรไปพาของต่างพื้นที่ด้วย พ.ศ ๒๔๙๔ หอสมุดเจียงไคเชค ตั้งอยู่หน้าโรงปั่นไฟ (ปัจจุบัน คือ ที่ตั้งของร้านเป้าอลูมิเนียม) หอสมุด มีลักษณะเป็นอาคารไม้ ๒ ชั้น เป็นที่เก็บรวมรวบหนังสือ ตำราจีนแขนงต่างๆ เป็นที่ใช้สอนภาษาจีนให้แก่บุตรหลานและ คนที่สนใจ เป็นพบปะสังสรรค์ จัดงานแต่งงาน งานเลี้ยง ของคนในชุมชน หอสมุดแห่งนี้ถูกยกเลิกเมื่อไหร่ไม่มีข้อมูลแน่ชัด แต่คาดว่าต้องถูกรื้อถอนไป เพราะเจ้าของที่ดินเตรียมสร้างอาคารบ้านเรือนใหม่ พ.ศ ๒๕๙๕ มีโรงภาพยนตร์ขึ้นครั้งแรกที่คลองแงะ เรียกกันว่า “วิคตก” เนื่องจากตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของทางรถไฟคลองแงะ ตรงโรงแป้งมัน (ปัจจุบันคือ ที่ตั้งโรงน้ำแข็ง ซอยโรงเรียนจงหัวอนุสรณ์) ชุมชนหลังอนามัย สร้างขึ้น เมื่อ พ.ศ ๒๔๙๕ โดยการร่วมทุนระหว่างนายเลี่ยง ตันสกุล กับ นายแถม ธูปนันท์ โดยจะจัดฉายภาพยนตร์ทุกวัน ภาพยนต์ที่นำฉายในยุคนั้นมีแต่ภาพไม่มีเสียงพากษ์ แต่คนในชุมชนและละแวกใกล้เคียง เช่น บ้านพังลา ระตะ แม่น้ำ คลองรำ ก็เป็นที่นิยมชื่นชอบ และมีความสุขกับสถานที่ฉายภาพยนตร์แห่งนี้เป็นอย่างยิ่ง พ.ศ ๒๔๙๗ เมื่อมีการตั้งตำบลพังลา ต่อมาจึงได้มีการก่อตั้งโรงเรียนประจำตำบลขึ้น มีโรงเรียนประชาบาลคลองแงะ และมีการสร้างโรงเรียนกอบกุลวิทยาคมขึ้น เมื่อพ.ศ ๒๔๙๗ ตั้งอยู่หมู่ที่ 5 ตำบลพังลา เดิมชื่อโรงเรียนคลองแงะ (กอบกุลวิทยา) ได้เปิดสอนครั้งแรกเมื่อปีการศึกษา 2497 โดยอาศัยสถานที่โรงเรียนประชาบาลล้านคลองแงะเป็นการชั่วคราว พ.ศ. 2498 นางกอบกุล รัตนปราการ ได้มอบที่ดินให้กรมสามัญศึกษา จำนวน 12 ไร่ เพื่อเป็นสถานที่ก่อสร้างโรงเรียน และในปี พ.ศ. 2499 กรมสามัญศึกษาได้จัดสรรงบประมาณ จำนวน 200,000 บาท (สองแสนบาทถ้วน) สร้างอาคารเรียน 1 หลัง โรงเรียนจึงได้ย้ายสถานที่จากโรงเรียนบ้านคลองแงะ มาอยู่ในสถานที่ใหม่ คือ สถานที่ตั้งโรงเรียนในปัจจุบัน ตั้งแต่ พ.ศ. 2499 พ.ศ ๒๔๙๐ เกิดครัวเรือนหนาแน่นขึ้น แต่ในตำบลยังไม่มีสถานีที่บริการด้านสาธารณสุข ทางการมีการขยายบริการสาธารณสุขสู่ระดับตำบล สร้างสุขศาลาคลองแงะขึ้น พ.ศ ๒๔๙๒ มีประชาชนมาใช้บริการที่สุขศาลามากขึ้น มีประชาชนมาใช้บริการที่สุขศาลามากขึ้น อนุมัติให้มีการขยายต่อเติมสุขศาลาหลังเดิมเป็น ๒ ชั้น ต่อเติมสุขศาลาอาคารสองชั้นขึ้น

    ยุคที่ ๔ ช่วงพัฒนาตามรูปแบบการปกครองท้องถิ่น (พ.ศ ๒๔๙๙-๒๕๔๓)

    ๓๐ พค. ๒๔๙๙ มีการปกครองแบบสุขาภิบาลเกิดขึ้นในพื้นที่ ชื่อสุขาภิบาลพังลา ยกฐานะจัดตั้งขึ้นเป็นสุขาภิบาลพังลาตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เมื่อวันที่ ๑๔ พฤษภาคม ๒๔๙๙ ตามราชกิจจานุเบกษา ฉบับพิเศษ เล่ม ๗๓ หน้า ๙๑ ตอนที่ ๔๕ ลงวันที่ ๓๐ พฤษภาคม ๒๔๙๙ พ.ศ ๒๕๐๐ วิคตกปิดตัวลง และในปีเดียวกัน นายอำพันธ์ สุภานุสรณ์ จึงได้สร้างโรงภาพยนตร์แห่งที่ ๒ ขึ้น ทางทิศตะวันออกของทางรถไฟ เรียกว่า “วิกออก” หรือ “วิกคลองแงะรามา” มีลักษณะเป็นอาคารไม้ชั้นเดียว หลังคาสูงต่อมาปรับปรุงโครงสร้างเพิ่มเติมเป็นอาคารก่ออิฐที่มีความมั่นคงแข็งแรงขึ้น สามารถจุคนได้ราว ๒๐๐-๓๐๐ คน มีที่ขายตั๋วอยู่ทางด้านหน้า จอฉายหนังหันหน้ามาทางทิศใต้ แถวหน้าราคา ๓ บาท แถวหลังราคา ๕ บาท และปรับเปลี่ยนราคามาเรื่อยๆ ในราคาไม่เกิน ๒๐ บาท และมีพัฒนาการฉายภาพยนตร์ที่มีเสียงพากษ์ประกอบ ทำให้ได้อัถรสในการรับชมยิ่งขึ้น นอกจากจะจัดฉายภาพยนตร์แล้ว ยังเป็นสถานที่จัดการแสดงของนักร้องดังๆ อาทิ เพลิน พรมแดน ซึ่งการแสดงครั้งนั้นมีคนเข้ามาชมอย่างเนืองแน่นจนวิกแตก นอกจาก บริเวณหน้าวิกจะเป็นตลาดโต้รุ่งขายอาหารของกินต่างในช่วงเย็นของทุกวัน จนถึงปี ๒๕๔๐ วิกแห่งนี้กและภาพยนตร์เรื่องสุดท้ายที่ฉาย คือ เรื่องจักรยานสีแดง ปัจจุบันอาคารโรงภาพยนตร์ยังมีอยู่ ด้านหน้าวิกจะเป็นพื้นที่วางเครื่องออกกำลังกายของชุมชนตลาดคลองแงะ วันที่ 22 มีนาคม พ.ศ.2502 ในช่วงเวลาประมาณ 10.00 น. หลังจากที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ได้เสด็จเยี่ยมเยือนราษฎรในพื้นที่จังหวัดสงขลา และกำลังจะเสด็จพระราชดำเนินไปยังพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นครั้งแรก โดยพระองค์ได้ใช้เส้นทางถนนกาญจนวนิช ชาวบ้านที่ได้ทราบข่างต่างมาเฝ้ารอรับเสด็จพระองค์ตลอดสองข้างทางอยู่เป็นเนือง ๆ เช่นเดียวกันกับบริเวณหน้าวัดสืบสุข ชาวบ้านต่างพากันมารวมตัวเฝ้ารอรับเสด็จของพระองค์ ทางเจ้าอาวาสวัดสืบสุข (ท่านอาจารย์เนือง) ได้มีการตั้งพลับพลาที่หน้าวัด เพื่อให้พระสงฆ์ได้สวดชยันโต (มงคลคาถา) ถวายพระพร เสด็จเยี่ยมเยียน ราษฎรที่โรงเรียนบ้านคลองแงะ ด้วย พ.ศ ๒๕๐๔ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคให้บริการจ่ายกระแสไฟฟ้าสู่ชุมชนคลองแงะครั้งแรก พ.ศ ๒๕๐๙ ย้ายตลาดเก่าที่เคยตั้งอยู่หลังธนาคารบีบีซี มาตั้งอยู่บริเวณปัจจุบัน พ.ศ ๒๕๑๐ ธนาคารกรุงเทพพาณิชย์การ (BBC) ซึ่งเป็นธนาคารแห่งแรกที่เข้ามาเปิดสาขาขึ้นในชุมชนคลองแงะ โดยครั้งแรกมีที่ตั้งธนาคารอยู่ตรงอาคารหัวมุมตรงถนนสายคลองแงะ-นาทวี ต่อมาย้ายที่ทำการมาตั้งอยู่อาคาร ๒ ชั้นตรงสี่ไฟแดง ในปัจจุบัน และธนาคารปิดยุติการให้บริการในปี ๒๕๔๐ เนื่องจากธนาคารประสบปัญหาหนี้ไม่ก่อให้รายได้ ซึ่งมีผลต่อสภาพเศรษฐกิจของเอเชียด้วย พ.ศ ๒๕๑๓ ธนาคารออมสิน ได้เข้ามาเปิดสาขาคลองแงะ เมื่อวันที่ ๑๖ มีนาคม ๒๕๑๓ โดยมีนายอนุตร ไพโรจน์ภักดิ์ เป็นผู้จัดการคนแรก พ.ศ. 2519 กรมสามัญศึกษาประสงค์จะยกระดับโรงเรียนคลองแงะ (กอบกุลวิทยา) เป็นโรงเรียนมัธยมศึกษา เพื่อสนองความต้องการของท้องถิ่น แต่ขนาดพื้นที่ของโรงเรียนไม่ถึงเกณฑ์การจัดตังโรงเรียนมัธยมศึกษา ของกรมสามัญศึกษาในขณะนั้น โรงเรียนจึงได้นำปัญหาความขัดข้องดังกล่าวปรึกษา คุณสุชาติ รัตนปราการและญาติ ซึ่งเป็นบุตร–ธิดาของนางกอบกุล รัตนปราการ บรรดา บุตร- ธิดา และญาติต่างเห็นถึงความสำคัญและคุณประโยชน์ทางการศึกษาที่จะเกิดแก่เยาวชน จึงได้ร่วมกันบริจาคที่ดินให้กรมสามัญศึกษาเพื่อขยายพื้นที่โรงเรียนคลองแงะ (กอบกุลวิทยา) เพิ่มเติมอีกจำนวน 24 ไร่ 1 งาน 61 ตารางวา รวมเป็นพื้นที่โรงเรียนคลองแงะ (กอบกุลวิทยา) ทั้งสิ้น จำนวน 36 ไร่ 1 งาม 61 ตารางวา กระทรวงศึกษาธิการจึงได้ประกาศยุบเลิกโรงเรียนคลอแงะ (กอบกุลวิทยา) ซึ่งเดิมสังกัดกองการประถมศึกษา มาจัดตั้งเป็นโรงเรียนมัธยมศึกษา สังกัดกรมสามัญศึกษา ใช้ชื่อว่า “โรงเรียนกอบกุลวิทยาคม” เมื่อวันที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2519 และต่อมาในปีการศึกษา 2527 กรมสามัญศึกษาจึงอนุมัติให้โรงเรียนเปิดสอนในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายมาจนถึงปัจจุบัน พ.ศ ๒๕๒๒ เทศบาลตำบลคลองแงะ เริ่มมีการใช้นำประปาครั้งแรก ในเขตชุมชนตลาดคลองแงะ แต่ปัจจุบันยังไม่สามารถให้บริการได้ครอบคลุมทั่วพื้นที่ พ.ศ ๒๕๓๑ ประกาศให้การดำเนินงานของอปพร. เป็นไปอย่างมีระเบียบและมีกฎหมายรับรองอย่างถูกต้อง ศูนย์อปพร. คลองแงะ พ.ศ ๒๕๓๕ ได้ยกฐานะเป็นสุขาภิบาลที่ ประธานสุขาภิบาลมาจากการเลือกตั้ง เมื่อวันที่ ๗ กรกฎาคม ๒๕๓๕ ตามราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๐๙ ชื่อ นายฐิติพงศ์ นิรันดร์สุข พ.ศ ๒๕๓๖ เกิดไฟไหม้ ชุมชนย่านถนนกาญจนวนิช ฝั่งทิศตะวันตก (หรือหลังสถานีรถไฟ) ทำให้คนในชุมชนซึ่งถือเป็นกลุ่มแกนนำดูแลชุมชนรวมพลังกันคนไม่คนละมือเพื่อระงับเหตุเพลิงไหม้ครั้งนั้นร่วมกับทางการ ทำให้ลดความเสียต่อชีวิตและทรัพย์สินลงได้ พ.ศ ๒๕๓๗ ต่อมากลุ่มแกนนำดูแลชุมชนกลุ่มนี้ (นายสมคิด ฤกษ์พิสุทธิ์ นายอ้วน ไดนาโม) จึงหารือกัน ควรหารถดับเพลิงมาไว้สักคัน หากเกิดเหตุการณ์อย่างนี้ขึ้นอีก จะช่วยเหลือประชาชนให้มีประสิทธิภาพยิ่งได้ จึงตัดสินใจระดมเงินจากชาวชุมชนที่เห็นด้วยกับความคิดนี้ นำไปประมูลรถดับเพลิงเก่าของสุขาภิบาลพังลา ด้วยเงินจำนวน ๕,๑๐๐ บาท และนำมาปรับปรุงซ่อมแซมให้สามารถใช้งานได้ดี จากนั้นจึงเกิดการเรียก คนกลุ่มนี้ว่า “อปพร.คลองแงะ” ซึ่งถือว่าเป็นกลุ่มอาสาสมัครกลุ่มแรกของชุมชนที่สามารถรวมตัวกับเพื่อช่วยเหลือสังคมจน งานกิจการสาธารณะกุศลอื่นๆอีกมากมาย จนแตกแขนงออกมาให้บริการกู้ชีพ กู้ภัย อย่างเป็นรูปแบบ ภายใต้ชื่อ ศูนย์สายชลคลองแงะ พ.ศ ๒๕๓๗ การจัดตั้งชุมชนย่อย ตามแผนมหาดไทยแม่บท (ฉบับที่ ๔) แผนงานย่อยพัฒนาองค์กรและการบริหารราชการท้องถิ่นกำหนดให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกรูปแบบจัดตั้งชุมชนย่อยและคณะกรรมการชุมชน เทศบาลตำบลพังลาในขณะนั้นจึงได้มีการจัดตั้งชุมชนย่อย ซึ่งเดิมตั้งอยู่ใน คือ หมู่ ๕ และหมู่ ๖ ตำบลพังลา ออกเป็นชุมชน ๑๑ ชุมชน ได้แก่ ตลาดคลองแงะ หลังตลาดคลองแงะ โรงฆ่าสัตว์ วัดแม่ชี ป่าพร้าว ตลาดใต้ หัวเลี้ยว หลังอนามัย หน้าสถานีรถไฟ และบ้านคลองผ่าน วันที่ ๒๕ พค. ๒๕๔๒ ยกฐานะตามกฏหมายจากสุขาภิบาลเป็นเทศบาลตำบลพังลา นายกเทศมนตรีคนแรกชื่อ นายฐิติพงศ์ นิรันดร์สุข

    ยุคที่ ๕ ช่วงพัฒนาแบบมีส่วนร่วมสู่ชุมชนจัดการตนเอง (พ.ศ.2543- ปัจจุบัน)

    พ.ศ.2543 เกิดน้ำท่วมครั้งใหญ่ที่สุด โดยน้ำท่วมเกือบสัปดาห์ ส่งผลให้สูญเสียทรัพย์สินเป็นจำนวนมาก สัตว์เลี้ยง และสวนผลไม้ ยางพารา ได้รับความเสียหาย พ.ศ ๒๕๔๙ สร้างศูนย์กีฬาและนันทนาการ และแล้วเสร็จเปิดทำการได้ พ.ศ ๒๕๕๐ โดยใช้เป็นสถานที่เล่นกีฬาอาทิ บาสเก็ตบอล แบดมินตัน ตระกร้อ และการกีฬาในอื่นๆ ให้กับคนในชุมชน ส่วนชั้นเปิดเป็นที่ทำสำนักงานเทศบาลตำบลคลองแงะ และการประชุมสภา นอกจากนี้ สถานที่แห่งยังใช้เป็นที่จัดเลี้ยง ประชุม ของคนในพื้นที่และใกล้เคียง วันที่ 1๙ กค. ๒๕๕๐ พระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล ซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อ๒๕๓๘ ให้มีการกระจายอำนาจสู่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นระดับตำบล จึงทำให้มีการยกฐานะสภาตำบลพังลาเป็นองค์การบริหารส่วนตำบลพังลา จึงทำให้ตำบลพังลามีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ๒ แห่ง มีผลทำให้เทศบาลตำบลพังลา จึงเปลี่ยนชื่อมาเป็นเทศบาลตำบลคลองแงะ และมีการสร้างนักงานเทศบาลสร้างขึ้นในปีเดียวกัน พ.ศ.๒๕๕๑ สตรีเข้ามาบทบาทในการพัฒนาท้องถิ่นกันมากขึ้น ทำให้มีการจัดตั้งกลุ่มแม่บ้านเทศบาลตำบลคลองแงะขึ้น และเปลี่ยนมาเป็นกลุ่มสตรีเทศบาลตำบลคลองแงะ ในปี ๒๕๕๓ พ.ศ.2553 เกิดพายุดีเปรสเข้าถล่มหลายพื้นที่ภาคใต้ คลองแงะเกิดน้ำท่วมครั้งใหญ่ขึ้นอีกครั้ง ชุมชนหัวเลี้ยว บ้านคลองผ่าน และแป๊ะกง –ทุ่งยาว ได้รับความหายหนักอีกรอบ พ.ศ. ๒๕๕๘ เทศบาลตำบลคลองแงะ เข้าร่วมเป็นเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ โดยมีเทศบาลตำบลขุนทะเลเป็นตำบลแม่ข่าย ซึ่งมีการพัฒนาและขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะร่วมกัน ได้ไปแลกเปลี่ยน เรียนรู้การดำเนินงานด้านการพัฒนาระบบการดูแลผู้สูงอายุเรื่องการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุโดยชุมชนท้องถิ่น ที่ ตำบลขุนทะเล อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา และได้เริ่มขับเคลื่อนการดำเนินงาน โดยมีการพัฒนาศักยภาพอาสาสมัคร แกนนำชมรมผู้สูงอายุ และกิจกรรมผู้สูงอายุ ในปี๒๕๔๔ จนกระทั่งในปี ๒๕๖๐ ได้ลงนามความร่วมมือกับสำนักกองทุนสนับสนุนการ สร้างเสริมสุขภาวะ (สสส.) โดยสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน (สำนัก ๓) เพื่อเป็นศูนย์เรียนรู้การพัฒนาระบบการดูแลผู้สูงอายุโดยมีเป้าหมายเพื่อยกระดับการจัดงานบริการ และกิจกรรมในการคุ้มครอง ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุครอบคลุมความจำเป็น ๔ ด้านคือ สังคม เศรษฐกิจ สภาพแวดล้อม และสุขภาพของผู้สูงอายุ สามารถตอบสนองปัญหาและความต้องการของผู้สูงอายุและ ครอบครัวในการช่วยเหลือดูแลผู้สูงอายุ รวมทั้งเป็นกลไกในการส่งเสริมและสนับสนุน ผู้ช่วยเหลือดูแลผู้สูงอายุ และอาสาสมัครดูแลผู้สูงอายุด้วย พ.ศ.25๖๑ เทศบาลตำบลคลองแงะมีนโยบายให้จัดทำโรงเรียนผู้สูงอายุ กองสวัสดิการจึงดำเนินการจัดทำหลักสูตรและเปิดการเรียนการสอนให้กับสูงอายุรุ่นแรกในปีงบประมาน ๒๕๖๑ จนถึงปัจจุบัน มีจำนวน ๒ รุ่นแล้ว พ.ศ.25๖๒ เทศบาลตำบลคลองแงะต้องการให้ผู้สูงอายุเข้าสิทธิประโยชน์ และกระตุ้นให้มีส่วนร่วมในการบริหารจัดการท้องถิ่นมากขึ้น จึงจัดตั้งกลุ่มผู้สูงอายุระดับชุมชนขึ้น และกำหนดให้มีคณะกรรมการแต่ละชุมชน โดยประกาศเมื่อวันที่ ๒๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๒

  • คลองแงะน่าอยู่ คู่การศึกษา ประชาชนเข้มแข็ง
    แหล่งท่องเที่ยวดี วิถีพอเพียง